Law, Andrew Bonar (1858-1923)

นายแอนดรูว์ โบนาร์ ลอว์ (๒๔๐๑-๒๔๖๖)

​​​     ​แอนดรูว์ โบนาร์ ลอว์ เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๓ เขาขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อการร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษนิยมกับพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ที่มีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)*

สิ้นสุดลงโบนาร์ ลอว์เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกที่มิได้ถือกำเนิดบนเกาะอังกฤษเฉกเช่นคนอื่น ๆ แต่เกิดในดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ แม้ว่าโบนาร์ ลอว์จะเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมถึง ๑๐ ปี และเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาที่มีทักษะในการพูดให้คนเข้าใจได้ง่ายก็ตาม แต่การได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียง ๗ เดือน ทำให้ผู้คนทั่วไปไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับบทบาทของเขามากนัก จึงเป็นที่รับรู้กันว่าสมญานามที่ว่า "นายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็นที่รู้จัก" (Unknown Prime Minister) หมายถึงแอนดรูว์ โบนาร์ ลอว์
     โบนาร์ ลอว์เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ค.ศ. ๑๘๕๘ ที่เมืองคิงส์ตัน [Kingston ปัจจุบันคือเร็กซ์ตัน (Rexton)] รัฐนิวบรันสวิก (New Brunswick) ในแคนาดาเขาเป็นบุตรชายคนที่ ๔ ของศาสนาจารย์เจมส์ ลอว์ (James Law) นักบวชในศาสนาคริสต์นิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวอัลสเตอร์ (Ulster) ซึ่งขณะนั้นเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษบนเกาะไอร์แลนด์ เอลิซาเบท (Elizabeth) ผู้เป็นมารดาซึ่งตั้งชื่อให้แก่เขาเสียชีวิตเมื่อโบนาร์ ลอว์อายุเพียง ๒ ขวบ ครั้นอายุ ๑๒ ปี น้าสาวก็ได้พาเขาเดินทางไปอยู่ที่สกอตแลนด์เพื่อไปเล่าเรียนที่นั่นโดยครอบครัวทางฝ่ายมารดาซึ่งมีฐานะร่ำรวยยินดีรับภาระในการเลี้ยงดู โบนาร์ ลอว์ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกิลเบิร์ตสฟีลด์ (Gilbertsfield School) ในเมืองแฮมิลตัน (Hamilton) และต่อมาที่โรงเรียนมัธยมกลาสโกว์ (Glasgow High School) ในเมืองกลาสโกว์ เมื่อจบการศึกษาในวัย ๑๖ ปี เขายึดอาชีพในวงการธุรกิจค้าเหล็กซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวทางมารดาจนประสบความสำเร็จในการก่อร่างสร้างตัวและได้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทของกลุ่มพ่อค้าเหล็กในเมืองกลาสโกว์
     หลังประสบความสำเร็จในอาชีพธุรกิจแล้ว โบนาร์ ลอว์ก็หันความสนใจไปสู่อาชีพการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๐๐ เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญในสังกัดพรรคอนุรักษนิยมจากเขตเลือกตั้งในนครกลาสโกว์เส้นทางสู่ความสำเร็จทางการเมืองของเขาดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โบนาร์ ลอว์อยู่ในกลุ่มที่ยึดมั่นกับนโยบายจักรวรรดินิยมซึ่งมีโจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain ค.ศ. ๑๘๓๖-๑๙๑๔)* เป็นผู้นำ กลุ่มนี้ต่อต้านระบบการค้าเสรีที่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจของอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และส่งเสริมให้มีการตั้งกำแพงภาษีขาเข้าแทนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและของจักรวรรดิอังกฤษให้แข็งแกร่ง สำหรับดินแดนในจักรวรรดินั้น อังกฤษจะให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศในเครือจักรภพ (imperial preference) โดยเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากประเทศในจักรวรรดิในอัตราต่ำกว่าสินค้าจากที่อื่น นอกจากนี้ โบนาร์ ลอว์ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวอัลสเตอร์ที่ผูกพันอยู่กับดินแดนอังกฤษก็ยึดมั่นในนโยบายไม่ให้ไอร์แลนด์ได้สิทธิปกครองตนเอง (home rule) เพื่อให้ไอร์แลนด์คงอยู่กับอังกฤษตลอดไป เมื่อโจเซฟ เชมเบอร์เลนล้มป่วยด้วยโรคอัมพาตใน ค.ศ. ๑๙๐๖ โจเซฟ ออสเตน เชมเบอร์เลน (Joseph Austen Chamberlain ค.ศ. ๑๘๖๓-๑๙๓๑)* บุตรชายของเขาและโบนาร์ ลอว์ได้ช่วยกันเป็นผู้นำสืบทอดอุดมการณ์ของกลุ่มนี้ต่อไป
     ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๑ อาเทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Arthur James Balfour ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๓๐)* หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๐๕ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะไม่อาจแก้ปัญหาความเห็นขัดแย้งเรื่องนโยบายการค้าเสรีในหมู่สมาชิกพรรคได้ การลาออกก่อให้เกิดการแก้ปัญหาไม่ตกในหมู่สมาชิกพรรคว่าผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสืบต่อจากบัลฟอร์ควรจะเป็นโจเซฟ ออสเตน เชมเบอร์เลน หรือวอลเตอร์ ลอง (Walter Long) ในที่สุดทั้ง ๒ คนได้ขอถอนตัวและเปิดโอกาสให้โบนาร์ ลอว์ซึ่งเป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายพอจะยอมรับได้ให้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่อย่างเอกฉันท์ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน โบนาร์ ลอว์ มีแมกซ์เวลล์ เอตเคน [Maxwell Aitken ซึ่งต่อมาคือลอร์ดบีเวอร์บรูก (Lord Beaverbrook)] เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์คนสำคัญเป็นทั้งเพื่อนและที่ปรึกษาทางการเมือง นับแต่นั้นมา
     ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โบนาร์ ลอว์มุ่งความสนใจไปยังประเด็นการตั้งพิกัดอัตราภาษีศุลกากรซึ่งหมายถึงการล้มเลิกระบบการค้าเสรี เพราะประเด็นนี้ได้ทำให้สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมขัดแย้งกันเองมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๓ นอกจากนั้น เขาก็สนใจปัญหาการเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองของไอร์แลนด์ซึ่งในฐานะลูกหลานชาวอัลสเตอร์ โบนาร์ ลอว์คัดค้านอย่างเต็มที่เมื่อสงครามโลกเกิดขึ้นแล้วโบนาร์ ลอว์ตัดสินใจรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ซึ่งเป็นช่วงที่มีรัฐบาลผสมระหว่างพรรคเสรีนิยมกับพรรคอนุรักษนิยม [มีรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน (Labour Party)* ด้วย ๑ คน] โดยมีเฮนรี เฮอร์เบิร์ต แอสควิท (Henry Herbert Asquith ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๙๒๘)* แห่งพรรคเสรีนิยมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมา โบนาร์ ลอว์ได้เข้าร่วมในแผนดำเนินการกดดันจนกระทั่งแอสควิทตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในวันที่ ๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ แต่เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๖)* มีพระราชกระแสให้เขาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โบนาร์ ลอว์ได้กราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งเดวิด ลอยด์ จอร์จแห่งพรรคเสรีนิยมแทนซึ่งลอยด์ จอร์จก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้นทันที
     ในรัฐบาลผสมชุดใหม่ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่มีลอยด์ จอร์จเป็นผู้นำนั้น โบนาร์ ลอว์ก็ได้เป็นทั้งผู้นำในสภาสามัญ รัฐมนตรีในคณะมนตรีสงคราม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการดำรงตำแหน่งสุดท้ายนี้ เขาก็ได้ดำเนินการโครงการเกี่ยวกับการให้กู้ยืมและการออกพันธบัตรยามสงครามอย่างเชี่ยวชาญ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลงโบนาร์ ลอว์ได้แลกเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมุรธาธร เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ แต่เขายังคงเป็นผู้นำในสภาสำมัญจนกระทั่งในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ โบนาร์ ลอว์ก็จำต้องลาออกจากตำแหน่งต่าง ๆ เพราะปัญหาสุขภาพที่ทรุดหนักเป็นพัก ๆ ออสเตน เชมเบอร์เลนได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทนเขา
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมที่ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาลมีความไม่พอใจต่อการร่วมรัฐบาลผสมมากขึ้นทุกที ลอยด์ จอร์จถูกวิจารณ์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๘ มาแล้วว่าปล่อยให้มีการแต่งตั้งขุนนาง บารอนและอัศวินจำนวนมากในกรณีที่เรียกว่า ความอัปยศของเกียรติศักดิ์ (Honors Scandal) หลายคนเป็นนักธุรกิจหรือนักหนังสือพิมพ์ จนปลุกเร้าข้อสงสัยในความเกี่ยวข้องกับกองทุนของพรรคมากขึ้น และในกรณีแบ่งดินแดนจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่เรียกว่าเหตุการณ์ชานัก (Chanak Incident)* ลอยด์ จอร์จซึ่งมีนโยบายสนับสนุนกรีซ ขณะที่ฝ่ายพรรคอนุรักษนิยมสนับสนุนตุรกี ก็เกือบทำให้ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ อังกฤษต้องทำสงครามกับมุสตาฟา เคมาล (Mustapha Kemal ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๙๓๘)* ซึ่งเป็นผู้นำการปฏิวัติของตุรกีต่อสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ขณะนั้นกองทหารอังกฤษประจำการอยู่ที่เมืองชานักใกล้ช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมเห็นว่าสงครามระหว่างอังกฤษกับตุรกีใกล้จะเกิดขึ้นอย่างไม่จำเป็น และท้ายที่สุดพวกเขาโกรธเคืองกับการที่มีข้อเสนอให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่เพื่อให้ความเห็นชอบกับการจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่โดยยังคงมีลอยด์ จอร์จเป็นผู้นำ ดังนั้นในวันที่ ๑๙ ตุลาคม โบนาร์ ลอว์ได้กล่าวในที่ประชุมพรรคอนุรักษนิยมที่สโมสรคาร์ลตัน (Carlton Club) ในกรุงลอนดอนซึ่งมีผู้เข้าประชุมประมาณ ๒๗๕ คน เขาแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่ ในที่สุดที่ประชุมก็ได้ลงมติให้ยุติการมีรัฐบาลผสมต่อไป ลอยด์ จอร์จจึงต้องลาออกจากหัวหน้ารัฐบาลผสมและได้มีสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมคนสำคัญ ๆ ที่อยู่ในรัฐบาลของลอยด์ จอร์จติดตามเขาไปด้วย โบนาร์ ลอว์ซึ่งกลับมาเป็นผู้นำพรรคใหม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ แต่รัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยมที่เคยร่วมงานกับเขา ๑๓ คนซึ่งคนสำคัญ ๆ ได้แก่ ออสเตน เชมเบอร์ เลน อาเทอร์ บัลฟอร์ และวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* ขุ่นเคืองใจที่เกิดการแตกหักในรัฐบาลผสมจึงปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งใด ๆ ในรัฐบาลใหม่ของพรรคอนุรักษนิยม ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๒ ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ซึ่งพรรคอนุรักษนิยมของโบนาร์ ลอว์ก็ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด จึงเท่ากับว่าพรรคอนุรักษนิยมได้รับความเห็นชอบจากประชาชนให้บริหารประเทศต่อไป
     ในช่วงที่โบนาร์ ลอว์เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ เขาขัดแย้งกับสแตนลีย์ บอลด์วิน (Stanley Baldwin ค.ศ. ๑๘๖๗-๑๙๔๗)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการตกลงเกี่ยวกับหนี้สินที่อังกฤษมีต่อสหรัฐอเมริกาจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๑ จนเขาเกือบจะลาออกจากตำแหน่งและต่อมาเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองแคว้นรูร์ (Ruhr) ของเยอรมนีอันเนื่องมาจากฝ่ายหลังผิดชำระค่าปฏิกรรมสงคราม โบนาร์ ลอว์ตัดสินใจตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศสเพื่อประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศส ในขณะที่เหตุการณ์ทางการเมืองยังไม่คลี่คลาย ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ โบนาร์ ลอว์ก็จำต้องขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเขาได้รับหน้าที่เพียง ๒๐๙ วันเพราะปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากมะเร็งในลำคอ เขาได้แสดงความประสงค์ว่าไม่ต้องการให้พระเจ้าจอร์จที่ ๕ ตรัสถามคำแนะนำของเขาว่าใครควรจะดำรงตำแหน่งแทน อย่างไรก็ดี มีบันทึกช่วยจำฉบับหนึ่งที่ไม่ได้ลงนามแต่เขียนโดยเลขานุการส่วนตัวคนหนึ่งของโบนาร์ ลอว์ ซึ่งมีข้อความชวนให้เข้าใจว่าโบนาร์ ลอว์ สนับสนุน แสตนลีย์ บอลด์วิน และบันทึกช่วยจำนี้ก็ได้มีผู้นำขึ้นถวายพระเจ้าจอร์จที่ ๕ ในที่สุด สแตนลีย์ บอลด์วินก็ได้ขึ้นรับตำแหน่งต่อจากเขา แต่ผู้แต่งชีวประวัติของเขากล่าวว่า บันทึกช่วยจำฉบับนั้นไม่ได้บ่งชี้เจตนาของโบนาร์ ลอว์ดังที่เข้าใจกัน
     ๕ เดือนต่อมา โบนาร์ ลอว์ซึ่งเป็นบุคคลที่สูบบุหรี่แทบตลอดเวลา ก็ถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงลอนดอน ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ขณะอายุ ๖๕ ปี ผู้คนทั่วไปค่อนข้างแปลกใจที่อัฐิเขาได้รับการบรรจุไว้ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) ในวันประกอบพิธีนั้น จอร์จ นาทาเนียล เคอร์ซัน มาร์ควิสเคอร์ซันที่ ๑ (George Nathaniel Curzon, 1st Marquess Curzon ค.ศ. ๑๘๕๙-๑๙๒๕) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหมายมั่นว่าจะได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากโบนาร์ ลอว์เมื่อทราบว่าโบนาร์ ลอว์ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อการไม่เป็นเช่นนั้น เขาจึงผิดหวังอย่างรุนแรง ลอร์ดเคอร์ซันได้เขียนเล่าให้ภรรยาฟังว่าคนที่มาชุมนุมในพิธีหลายคนอดแปลกใจไม่ได้ว่าโบนาร์ ลอว์ผู้ไม่เด่นดังได้รับโอกาสนี้ได้อย่างไร ขณะที่แอสควิทกล่าวว่า "เป็นการเหมาะสมแล้วที่จะฝังนายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็นที่รู้จักเคียงข้างทหารนิรนาม" (It is fitting that we should have buried the Unknown Prime Minister by the side of the Unknown Soldier) อย่างไรก็ดี คำกล่าวสรรเสริญเขาในช่วงพิธีก็เป็นเรื่องที่ปรุงแต่งถ้อยคำอยู่มาก เพราะคนทั่วไปเห็นว่าโบนาร์ ลอว์เป็นผู้ที่มีทัศนะแคบและไม่ค่อยมีความสนใจในสิ่งต่าง ๆ นัก
     ในด้านชีวิตส่วนตัวนั้น แอนดรูว์ โบนาร์ ลอว์สมรสกับแอนนี พิตแคร์น รอบลีย์ (Annie Pitcairn Robley) บุตรสาวของเจ้าของอู่ต่อเรือในนครกลาสโกว์ ใน ค.ศ. ๑๘๙๑ ทั้งคู่มีบุตรชาย ๔ คนและบุตรสาว ๒ คน ใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ภรรยาของเขาก็ถึงแก่กรรมภายหลังการผ่าตัดซึ่งความสูญเสียนี้มีผลให้โบนาร์ ลอว์ตกอยู่ในความเศร้าในบางเวลา ต่อมาบุตรชายอีก ๒ คนก็เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๑ กล่าวคือ ชาร์ลี (Charlie) ซึ่งมียศร้อยตรี กลายเป็นบุคคลสาบสูญหลังจากยุทธการที่กาซา (Battle of Gaza) โดยเข้าใจกันว่าเขาคงถูกทหารตุรกีจับกุมตัวไป และเจมส์ (James) บุตรชายอีกคนซึ่งอยู่ในกองทัพอากาศก็เสียชีวิตจากการไปประจำการที่ฝรั่งเศส โบนาร์ ลอว์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้หนึ่งที่สามารถอดกลั้นต่อความสูญเสียในชีวิตครอบครัวได้อย่างกล้าหาญ มีงานเขียนชีวประวัติของเขาเล่มหนึ่งประพันธ์โดยรอเบิร์ต เอ็น. ดับเบิลยู. เบลก (Robert N.W. Blake) ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า The Unknown Prime Minister


วิลเลียม แม็กซ์เวลล์ เอตเคน บารอนบีเวอร์บรูกที่ ๑ (William Maxwell Aitken, 1st Baron Beaverbrook, ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๙๖๔) เกิดที่ เมืองเมเปิล (Maple) รัฐออนแทริโอ (Ontario) ในแคนาดา เขาเป็นบุตรของศาสนาจารย์นิกายเพรสไบทีเรียนเช่นเดียวกับโบนาร์ลอว์ เขาเคยเป็นนายหน้าค้าหุ้นและทำธุรกิจผลิตซีเมนต์จนมีฐานะมั่งคั่งในแคนาดาก่อนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญที่ อังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๑๐ และได้เป็นเลขานุการส่วนตัวของโบนาร์ลอว์เขาได้ไปสังเกตการณ์การรบในแนวรบด้านตะวันตกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ และได้แต่งหนังสือเรื่อง Canada in Flanders ( ค.ศ. ๑๙๑๗) ลอร์ดบีเวอร์บรูกได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ในรัฐบาลของเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๙ เขาก็ได้เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์และรับช่วงดำเนินการผลิต Daily Express จนกลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่ คนทั่วโลกอ่านมากที่ สุดต่อมาเขาได้ก่อตั้ง Sunday Express ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ และรับซื้อกิจการผลิต Evening Standard ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ลอร์ดบีเวอร์บรูกได้ใช้หนังสือพิมพ์เป็นช่องทางรณรงค์นโยบายการค้าเสรีของจักรวรรดิ (Empire Free Trade) ตลอดมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาก็ได้เข้าร่วมในคณะมนตรีสงครามใน ค.ศ. ๑๙๔๐ และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงผลิตอากาศยานระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๑ และกระทรวงพลาธิการระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๒ เมื่อสิ้นสงคราม ลอร์ดบีเวอร์บรูกได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยนิวบรันสวิกใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ผลงานเขียนของเขา ได้แก่ Politicians and the Press ( ค.ศ. ๑๙๒๕) Politicians and the War ( ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๒) Men and Power ( ค.ศ. ๑๙๕๖) และ The Decline and Fall of Lloyd George ( ค.ศ. ๑๙๖๓)

คำตั้ง
Law, Andrew Bonar
คำเทียบ
นายแอนดรูว์ โบนาร์ ลอว์
คำสำคัญ
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- เบล็ก, รอเบิร์ต เอ็น. ดับเบิลยู.
- คิงส์ตัน, เมือง
- มุสตาฟา เคมาล ปาชา
- พรรคเสรีนิยม
- เหตุการณ์ชานัก
- เคอร์ซันที่ ๑, จอร์จ นาทาเนียล เคอร์ซัน, มาร์ควิส
- เชมเบอร์เลน, โจเซฟ ออสเตน
- ลอว์, ศาสนาจารย์เจมส์
- เชมเบอร์เลน, โจเซฟ
- รูร์, แคว้น
- นิวบรันสวิก, รัฐ
- สิทธิปกครองตนเอง
- นโยบายการค้าเสรีของจักรวรรดิ
- จอร์จที่ ๕, พระเจ้า
- บัลฟอร์, อาเทอร์ เจมส์
- อัลสเตอร์, ชาว
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- ดาร์ดะเนลส์, ช่องแคบ
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ยุทธการที่กาซา
- เอตเคน, แมกซ์เวลล์
- พรรคแรงงาน
- วอลเตอร์ ลอง
- รอบลีย์, แอนนี พิตแคร์น
- บีเวอร์บรูก, ลอร์ด
- เอตเคน, วิลเลียม แม็กซ์เวลล์ บารอนบีเวอร์บรูกที่ ๑
- พรรคอนุรักษนิยม
- บอลด์วิน, สแตนลีย์
- ลอว์, แอนดรูว์ โบนาร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1858-1923
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๐๑-๒๔๖๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf